แกงส้มสูตร กินเนื้อน้อยลง กินผักตามฤดูกาลมากขึ้น

Posted on marzo, 17 2020

แกงส้มสูตรนี้จะเลือกใช้ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว แครอท มะละกอดิบ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดขาว

แม้ผักหลายชนิดจะปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าเลือกช่วงเวลาที่มีอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูก ก็จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีกว่า อย่างเช่น มะละกอดิบ ที่นิยมปลูกตั้งแต่ช่วงกลางฤดูฝน และใช้เวลา 6-7 เดือนจนพร้อมเก็บเกี่ยว รวมถึงผักที่นิยมปลูกในช่วงอากาศเย็นปลายปี-ต้นปี พร้อมเก็บเกี่ยวในช่วงเข้าหน้าร้อน เช่น กะหล่ำ แครอท
และในช่วงมีนาคม-เมษายา เป็นช่วงที่ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ให้ผลผลิตได้ดี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเร่งระยะเวลา

การนำผักมาใช้ทำอาหาร ควรรู้ที่มาหรือมั่นใจได้ว่าปลอดสารเคมี โดยเฉพาะผักที่ปลูกตามวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่นอกจากจะให้ผลผลิตคุณภาพดีและปลอดภัย ยังช่วยเพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน ส่งเสริมการเพาะปลูกให้ยั่งยืนต่อไปอย่างเกื้อกูลกัน




ปรับสูตรทำพริกแกงส้มอย่างง่ายกันด้วยตัวเอง เลือกใช้พริกแกงส้มที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือเจือปนด้วยสารกันบูด เพื่อเข้าถึงรสชาติและสรรพคุณที่มีประโยชน์ของเครื่องเทศ

สูตรพริกแกงส้มอย่างง่าย
- พริกแห้ง 6 เม็ด
- หอมแดงซอย 3 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียม 5 กลีบ
- กะปิ 1 ช้อนชา
- เกลือ 1 ช้อนชา
- กระชาย 5 แง่ง

*ถ้าเป็นสูตรมังสวิรัติ อาจจะเลือกผสมเห็ดหรือเต้าหู้สับละเอียดลงไปแทนเนื้อปลาหรือเนื้อกุ้ง เพื่อความเข้มข้น*



ต้มน้ำเปล่าจนเดือดด้วยไฟกลาง ใส่พริกแกงส้มที่โขลกหรือปั่นเตรียมไว้ลงไปเคี่ยวให้ละลาย

ปรุงรสน้ำแกงส้มด้วยน้ำมะขามเปียกตามสูตรโบราณประมาณ 1-2 ช้อน

ปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำตาลมะพร้าว มะนาว เพื่อความครบรสเผ็ด-เค็ม-เปรี้ยว-หวาน ่



ใส่ผักที่ล้าง สะเด็ดน้ำ และหั่นไว้เรียบร้อยตามลงไป



เมื่อผักเริ่มสุก ใส่เต้าหู้แข็งให้โปรตีนแทน
เนื้อสัตว์ตามลงไป ต้มให้เข้าเนื้อกัน

รสชาติของน้ำแกงอาจจะจืดลง สามารถลองชิมและปรุงรสเพิ่มเติมอย่างพอดี



ต้มให้สุกจนทั่ว


หากชอบเปรี้ยวนำ
ก็มีสูตรแนะนำให้บีบมะนาวลงไปหลังปิดเตา



แกงส้มสูตร 
กินเนื้อน้อยลง กินผักตามฤดูกาลมากขึ้น กินอย่างหลากหลายเพื่อคุณค่าทางโภชนาการ ในปริมาณที่พอดี